ยาลดความอ้วน ยาลดน้ำหนัก ทางลัดสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนักแต่ต้องรับความเสี่ยง

คนเราเมื่อต้องการลดความอ้วน ลดน้ำหนัก นอกจากควบคุมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายแล้ว หลายๆ คนมักนึกถึง “ทางลัด” โดยการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรืออาหารเสริมลดความความอ้วน ลดน้ำหนักต่างๆ มาใช้ หากยังไม่ได้ผลอีกก็จะเพิ่มความแรงโดยการซื้อยาลดความอ้วน ยาลดน้ำหนัก ซึ่งสามารถหาซื้อเองได้โดยง่าย โดยไม่ได้มีการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรที่เหมาะสม ส่งผลให้ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา ได้รับความเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ ดังนั้น หากจะซื้อยาลดความความอ้วนหรือยาลดน้ำหนักมาใช้ ควรคำนึงถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

เตือนภัย! อันตรายจากการใช้ยาลดคฟวามอ้วน

อันตรายจากยาลดลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนักที่ควรระวัง

การใช้ยาลดความอ้วนไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็จะส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ผลข้างเคียงที่มักพบในการใช้ยาลดความอ้วน ได้แก่

  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
  • ความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติ
  • นอนไม่หลับ
  • วิตกกังวล
  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการอ่อนแรง
  • ลิ้นเปลี่ยนรส หรือรู้สึกถึงรสโลหะภายในปาก
  • ปากแห้ง
  • มีอาการชาตามผิวหนัง
  • คลื่นไส้ ท้องเสีย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
  • เป็นตะคริวที่ท้อง
  • มีปัญหาที่ตับ

นอกจากนี้ยาลดความอ้วนบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงเฉพาะจนเป็นอันตรายซึ่งอาจพบได้ ดังนี้

  •  ออร์ลิสแตท (Orlistat)

ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ระบบย่อยอาหาร ซึ่งได้แก่ อุจจาระมีคราบไขมัน หรือมีอาการคล้ายท้องเสีย เนื่องจากยาชนิดนี้จะบล็อกไขมันจากระบบย่อยอาหาร และกำจัดออกมาทางอุจจาระ ทำให้อุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ เช่น ท้องอืดหรือลำไส้แปรปรวนได้ จึงทำให้ยาชนิดนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการไหลเวียนของน้ำดีจากตับ

  •  ลอร์คาเซริน (Lorcaserin)

ผลข้างเคียงที่อาจพบคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปากแห้ง ท้องผูก ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 10 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน

  •  เฟนเตอมีน (Phentermine)

ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ นอนไม่หลับ วิตกกังวล อยู่ไม่สุข และอาจเกิดการเสพติดได้หากใช้ในระยะยาว เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้เคลิ้มมีความสุข และถ้าหากหยุดยาทันทีทันใด อาจเกิดภาวะถอนยาได้ อาการถอนยาดังกล่าวได้แก่ สับสน หวาดระแวง ประสาทหลอน เป็นต้น ยากลุ่มนี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

  •  เฟนเตอมีนและโทพิราเมท ชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Phentermine และ Topiramate-extended Release)

อาจมีอาการข้างเคียง เช่น มีอาการเหน็บชาตามปลายมือและเท้า วิงเวียนศีรษะ ลิ้นเปลี่ยนรส นอนไม่หลับ ท้องผูก และปากแห้ง

  •  ไซบูทรามีน (Sibutramine หรือที่รู้จักในชื่อการค้าคือ Reductil)

สมัยก่อนได้รับความนิยมมาก อย่างไรก็ตาม มีการพบด้วยว่า หากทานไซบูทรามีนติดต่อกันนาน ๆ หรือกินเกินขนาดอาจเกิดอาการทางจิตประสาท เช่น อาการหลอน ซึมเศร้า ชัก หอบเหนื่อย อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคอัมพฤกษ์อัมพาตได้ เมื่อพบว่ามีอันตรายและมีผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิต บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายได้ขอถอนตัวยาออกจากทะเบียนในปีคศ. 2010 ทำให้ปริมาณการใช้ลดลงมาก เพราะถือว่าผิดกฎหมายและเป็นยาเถื่อน

ทั้งนี้ ยาลดความอ้วนอย่างเฟนเตอร์มีนเป็นยาที่ควรใช้ในระยะสั้นไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่คาดคิดได้ ส่วนยาออร์ลิสแตท (Orlistat) องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการะบุว่าสามารถใช้ได้ในระยะยาว หรือจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุด ขณะที่ยาลดความอ้วนซึ่งไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมอาหารและยาให้เป็นยาลดความอ้วน หรือเป็นยาลดความอ้วนที่ขายนอกร้านขายยา ก็อาจเสี่ยงต่ออาการไม่พึ่งประสงค์ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่อาจทำให้ผู้ใช้ถึงแก่ชีวิตได้ เพราะไม่ใช่ยาดลดความอ้วนโดยตรง เช่น ยาขับปัสสาวะ มีผลขับปัสสาวะออกจากร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงเร็วหลังใช้ยา แต่ยาขับปัสสาวะไม่มีผลในการลดแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ มีผลเพียงทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลงเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียสมดุลของเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกายไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายอาการผิดปกติต่อหัวใจ สมอง และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยยากลุ่มนี้ไม่ควรนำมาใช้ในการลดน้ำหนักอย่างยิ่ง รวมถึงยาถ่ายหรือยาระบาย จะกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น เพื่อขับไล่อาหารออกจากทางเดินอาหารภายหลังการรับประทานยาเข้าไป ทำให้รู้สึกว่าน้ำหนักลดลง แต่การใช้ยาระบายในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเดิน ร่างกายสูญเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ เกิดอันตรายได้ และการใช้ยาระบายติดต่อกันนานๆ ส่งผลร่างกายเริ่มทนต่อยา คือ การใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่ให้ผลการรักษาลดลง หากต้องการผลการรักษาเท่าเดิม ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น ดังนั้นควรใช้ยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ในการลดความอ้วน

เตือนภัย! อันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วน

การโยโย่ อีก 1 ในอันตรายจากการใช้ยาลดความอ้วน ยาลดน้ำหนัก

ผู้รับประทานยาลดความอ้วนต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจมีอาการทางประสาทอ่อนๆ และอาการที่เป็นกันมากคือ “การโยโย่” หรือการกลับมาอ้วนมากกว่าเดิม จนอาจอ้วนกว่าก่อนกินยาลดความอ้วนเสียอีก สาเหตุของโยโย่มาจากขณะที่รับประทานยานั้น ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารใดและเมื่อหยุดยาลงร่างกายจึงหลั่งสารเข้าไปกระตุ้นสมองให้มีความอยากอาหารมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากนั้นเมื่อน้ำหนักเพิ่มก็ส่งผลให้เกิดอาการเครียด และด้วยผลของยาที่ยังคงค้างในร่างกายจึงยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล จนอาจจะรู้สึกไม่อยากออกไปเจอใคร กลายเป็นโรคกลัวสังคมและกลับไปรับประทานยาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเกิดการดื้อยาที่ทำให้รับประทานยาตัวเดิมก็ไม่ได้ผล ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นกว่าเดิมและมีอันตรายต่อร่างกายมากกว่าเดิมอีกด้วย

สรุป ยาลดความอ้วน ยาลดน้ำหนัก ทั้งมีคุณอนันต์และโทษมหันต์

จริง ๆ แล้วยาลดความอ้วน ยาลดน้ำหนักมีทั้งคุณและโทษ ดังค่ำกล่าวที่ว่า “เหรียญมี 2 ด้าน” จึงมีความจำเป็นที่ผู้คิดจะใช้ยาลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนักต้องเรียนรู้เกี่ยวกับยาเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัย และการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากต้องการใช้ยาลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยาได้มากที่สุด

ข้อมูลจาก

  1. https://www.pobpad.com/ยาลดความอ้วน-ปลอดภัยหรื
  2. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=15
  3. https://hd.co.th/types-of-weight-loss-pills-side-effects-and-dangers
  4. https://health.kapook.com/view192519.html
  5. https://www.posttoday.com/politic/report/393113

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเว็บอาหารเสริมลดน้ำหนักยี่ห้อไหนดีได้ที่นี่ ยาลดความอ้วนยี่ห้อไหนดี 10 อันดับ ได้หุ่นใหม่ แบบไม่ทรมาน

สาระน่ารู้เกี่ยวกับอาหารเสริมลดน้ำหนัก

สาเหตุของโรคอ้วน

ชนิดของอาหารเสริมลดน้ำหนัก (สารเคมี vs สมุนไพร)

อาหารเสริมลดน้ำหนัก vs ไฟเบอร์ดีท็อกซ์ ต่างกันอย่างไร

ใครบ้างที่ไม่ควรได้รับยาลดความอ้วน?